การบังคับคดีแพ่ง

Last updated: 13 ก.ย. 2561  |  14110 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การบังคับคดีแพ่ง

การบังคับคดีแพ่ง
             
มารู้จักคำว่า "บังคับคดี" กันดีกว่า บางท่านมีปัญหาเกี่ยวกับคดี เช่น ลูกหนี้เบี้ยวเงินไปจำนวนหนึ่ง  แล้วมาจ้างทนายความให้ฟ้องลูกหนี้  โดยเข้าใจว่าเมื่อศาลตัดสินแล้วต้องได้เงินคืนแน่ๆ  เพราะคดีของตนไม่มีทางที่จะแพ้  ซึ่งก็จริงดังคาด ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์เต็มตามฟ้อง  แต่จำเลยไม่จ่ายเงินตามคำพิพากษา  โจทก์ยังงงไม่หายทำไมถึงเป็นเช่นนั้นเป็นไปได้อย่างไร   ความจริงไม่ใช่เรื่องแปลก  เมื่อจำเลยไม่ชำระก็ยังมีอีกขั้นตอนหนึ่งเรียกว่าการบังคับคดี  คือยึดทรัพย์สินของจำเลยมาขายทอดตลาด  ขายได้เท่าไรก็นำมาชำระหนี้  มีเงินเหลือก็คืนให้จำเลยหรือลูกหนี้ไป  ถ้าขายไม่ได้ก็ไม่ได้เงิน  หรือจำเลยไม่มีทรัพย์อะไรให้ยึด   โจทก์หรือเจ้าหนี้ก็ไม่ได้เงินคืนเช่นกัน บางรายศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์เป็นร้อยล้าน  แต่โจทก์บังคับคดีไม่ได้เลยแม้แต่สตางค์เดียว คนที่ซวยและถูกด่าคือทนายความครับ โจทก์ก็จะหาว่าทนายความไม่ได้เรื่อง เสียเงินจ้างตั้งมากมาย  แต่ไม่ได้เงินเลยสักตังค์  
              
เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคดีแพ่งนั้นกฎหมายบังคับเอากับทรัพย์สินของจำเลยหรือลูกหนี้เท่านั้น  มิได้บังคับเอากับร่างกายหรือเสรีภาพ ซึ่งความจริงทนายความส่วนใหญ่ก็คงได้อธิบายให้เจ้าหนี้ได้ฟังแล้ว  ในเวลาที่มาติดต่อจ้างว่าความ  แต่ท่านไม่เข้าใจไม่รู้เป็นเพราะสาเหตุใด  แต่ก็ยอมรับว่าทนายความบางคนไม่ได้อธิบายให้เจ้าหนี้ฟังในเวลาที่มาติดต่อจ้างว่าความ  แต่ยุให้ฟ้องท่าเดียว  เพราะถ้าอธิบายแล้วท่านเกิดเข้าใจเป็นอย่างดี  แล้วคิดว่าลูกหนี้มันไม่มีทรัพย์สินอะไรเลยนี่หว่า  แล้วกูจะฟ้องมันไปทำไมให้เสียค่าจ้างทนายอีกหลายหมื่นบาท   ทนายความผู้นั้นก็เลยอดได้ค่าจ้างสิครับ มันจึงเป็นปัญหาที่ไม่จบสิ้น  เจ้าหนี้บางคนมีการศึกษาสูงจบถึงปริญญาโท  อธิบายเรื่องนี้ก็ไม่ยอมเข้าใจสักที  คิดอยู่อย่างเดียวเมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์  ในเมื่อตนเป็นโจทก์ก็ต้องได้เงินตามคำพิพากษา เมื่อไม่ได้ก็ด่าทนายความอย่างเดียว   หาว่าทนายความไม่มีความสามารถ ปัดโธ่ก็จำเลยมันไม่มีทรัพย์สินอะไร  แล้วมันเป็นความผิดของทนายความหรือ ถ้าใครอ่านแล้วคิดว่าเป็นความผิดของทนายความแล้วมีเหตุผลดีกว่านี้ ผมจะกราบเท้าเลยครับ   

แต่มีการทำงานอีกขั้นตอนหนึ่งเรียกว่า "การทวงหนี้"  ท่านต้องแยกให้ออกว่าท่านจ้างทนายความให้ว่าความหรือจ้างไปทวงหนี้  ส่วนใหญ่สำนักงานทนายความทั่วไปจะไม่รับทวงหนี้ มีส่วนน้อยเท่านั้นที่เปิดแผนกทวงหนี้ด้วย  แต่เวลาที่เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ไปติดต่อสำนักงานทนายความจะไม่ได้ใส่ใจว่าจ้างทนายความให้ทำอะไร คิดอย่างเดียวเมื่อทนายความรับเงินค่าจ้างไปแล้วตนต้องได้เงินคืนจากลูกหนี้  ซึ่งถ้าทนายความทำงานเฉพาะการว่าความเท่านั้น การจะได้เงินจากลูกหนี้หรือไม่เป็นไปตามเหตุผลข้างต้น แต่ถ้าทนายความรับงานเฉพาะการทวงหนี้  แล้วทวงไม่ได้แบบนี้ก็สมควรด่าทนายความเพราะรับเงินไปแล้วทำงานไม่บรรลุผล แต่ขอบอกก่อนส่วนใหญ่ที่ไปทวงหนี้จะไม่ใช่ทนายความ  เพราะการทวงหนี้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางกฎหมาย แต่เป็นบุคคลประเภทไหนก็รู้กันอยู่

โดย..ทนายกฤษณะ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้